คู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
(Thai Early Developmental Assessment for Intervention: TEDA4I)
การดูแลเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการในประเทศไทยได้ดำเนินการมากว่า 50 ปี เครื่องมือที่ใช้มีความหลากหลายและมีจำนวนข้อทักษะมากกว่า 600 ข้อ ไม่สะดวกในการให้หน่วยงานในพื้นที่นำไปใช้ปฏิบัติงาน กรมสุขภาพจิตโดยสถาบันราชานุกูลและสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จึงได้พัฒนาคู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ(Thai Early Developmental Assessment for Intervention: TEDA4I) ขึ้น โดยคณะทำงานของ สถาบันราชานุกูล สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม พัฒนาเครื่องมือนี้โดยยึดหลักพัฒนาการปกติ การศึกษาเกณฑ์ปกติด้านพัฒนาการของเด็กไทยวัยแรกเกิด-5 ปี สถาบันพัฒนาการเด็ก ราชนครินทร์ และบูรณาการเครื่องมือต่างๆ ได้แก่ คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก สถาบันราชานุกูล (DSI) แบบประเมินและป้องกันพัฒนาการเด็กล่าช้าเด็กวัยแรกเกิด – 5 ปี (TDSI) สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ แบบประเมินพัฒนาการอย่างคัดกรอง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งประสบการณ์จากคณะทำงานที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อให้ง่ายและสะดวกใช้แก่ผู้ปฏิบัติงาน สำหรับใช้ประเมินและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคลและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือคุณภาพที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานส่งเสริมหรือกระตุ้นพัฒนาการเด็กใน รพศ./ รพท./ รพช. ใช้ประเมินและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ได้อย่างครอบคลุมทั้งประเทศอย่างไร้รอยต่อ เป็นระบบ และทิศทางเดียวกัน
คู่มือการประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ (TEDA4I) แบ่งออกเป็นการประเมินและ แนวทางการช่วยเหลือ 5 ด้าน คือ ด้านการเคลื่อนไหว จำนวน 25 ข้อ ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา 29 ข้อ ด้านการเข้าใจภาษา 29 ข้อ ด้านการใช้ภาษา 31 ข้อ และด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม 31 ข้อ หลังจากนั้นนำคู่มือการประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ (TEDA4I) มาหาค่าความเที่ยงตรง (Validity) และค่าความเชื่อมั่น (Reliability) พบว่า ค่าความเที่ยงตรง (Validity) โดยรวมของคู่มือ เท่ากับ 0.84 ซึ่งมีระดับค่าความเที่ยงตรงอยู่ในระดับสูงมาก และมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ 0.97 ซึ่งมีระดับค่าความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูงมาก
การนำคู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการไปใช้นั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการประเมินและช่วยเหลือเด็ก มีการปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน จึงจะทำให้การประเมินและช่วยเหลือเด็กมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ต้องอาศัยความอดทน ความทุ่มเท ความเข้าใจในตัวเด็ก ผู้ปฏิบัติควรศึกษาคู่มือนี้ให้เข้าใจและหรือผ่านการอบรมการใช้คู่มือก่อนนำไปใช้